
Bee Park อุทยานการเรียนรู้เรื่องผึ้ง มจธ.ราชบุรี
แลปวิจัยผึ้งพื้นเมือง (Native Honeybee Research Laboratory)

Bee Park หรืออุทยานการเรียนรู้เรื่องผึ้ง ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เริ่มก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2554 เป็นสถานที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผึ้ง เช่น ผึ้งและความสำคัญของผึ้ง (Honeybees) ความหลากหลายของผึ้งทั่วโลก และผึ้งพื้นเมืองของไทย (Bee Diversity) การเลี้ยงผึ้งและอุปกรณ์สำหรับเลี้ยงผึ้ง (Beekeeping) โลกของผึ้ง (BeeWorld) น้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผึ้ง (Honey and Bee Products) เพื่อเป็นสถานที่สำหรับใช้ถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งเน้นให้อาจารย์และนักวิจัยนำเอาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยมาถ่ายทอดเป็นงานบริการวิชาการให้แก่ นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาดูงานได้ และมีจัดอบรมระยะสั้นเรื่องการเลี้ยงผึ้ง เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำเอาความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นอาชีพที่ยั่งยืนต่อไปได้
Bee Park (อุทยานการเรียนรู้เรื่องผึ้ง) เป็นส่วนที่บริหารจัดการและพัฒนาองค์ความรู้โดย แลปวิจัยผึ้งพื้นเมือง (Native Honeybee Research Laboratory) ซึ่งแลบวิจัยผึ้งพื้นเมืองได้เริ่มดำเนินการศึกษา และทำการวิจัยเรื่องผึ้งและการใช้ประโยชน์จากผึ้งพื้นเมืองเอเชีย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยมุ่งเน้นเพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ในด้านวิชาการที่ได้รับการยอมรับ มีการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ (International Journal) การตีพิมพ์หนังสือความรู้เรื่องผึ้งทั้งสำนักพิมพ์ในประเทศไทยและสำนักพิมพ์ต่างประเทศ (Textbook) การสร้างเครือข่ายวิจัยภายในประเทศกว่า 25 หน่วยงาน และจากสถาบันวิจัยชั้นนำต่างประเทศกว่า 15 สถาบันจากกว่า 9 ประเทศ และเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมวิชาการนานาชาติ (International Conferences) ส่งผลให้เกิดข้อมูลและความรู้ใหม่ๆ ที่ได้จากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง จึงได้นำข้อมูลและองค์ความรู้เหล่านี้ นำมาถ่ายทอดและจัดแสดงใน อุทยานการเรียนรู้เรื่องผึ้ง (Bee Park) มจธ.ราชบุรี ปัจจุบันคลัสเตอร์วิจัยแลปวิจัยผึ้งพื้นเมือง (Native Honeybee Research Laboratory) มี ผศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี เป็นหัวหน้าแลป/คัสเตอร์ มุ่งเน้นศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและการปรับตัวของผึ้งพื้นเมือง การใช้เทคโนโลยีทางด้านวิศวะนำพัฒนาเทคโนโลยีฉลาดที่ใช้ในฟาร์มผึ้ง (Smart farming) ซึ่งเป็นผลการทำงานร่วมกันของนักวิจัยจากหลากหลายความเชี่ยวชาญ เช่น ชีววิทยา เคมี คอมพิวเตอร์และวิศวกรรม ตลอดจนการประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ มีบริการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเกษตรกรที่สนใจพัฒนาการเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองอย่างยั่งยืน โดยมีเนื้อหาหลักสูตรที่เปิดอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจ ดังนี้
- การเลี้ยงผึ้งโพรง ผึ้งมิ้มและชันโรง เพื่อการผลิตน้ำผึ้งและการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยการผสมเกสร
- การเลี้ยงผึ้งจุลภาค (Microbeekeeping) เพื่อผลิตน้ำผึ้งออร์แกนิคเอกลักษณ์ป่าเขตร้อน
- การพิสูจน์เอกลักษณ์เฉพาะของน้ำผึ้งและกระบวนการทดสอบน้ำผึ้งแท้-น้ำผึ้งปลอม
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้งและน้ำผึ้ง เพื่อเป็นแนวทางการสร้างอาชีพ เช่น สบู่ แชมพู ครีมบำรุงผิว ฯลฯ